ว่ากันด้วยเรื่อง คดีอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น
กฎหมายได้บัญญัติให้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากไม่ได้ร้องทุกข์ภายในระยะเวลาดังกล่าวคดีนั้นจะเป็นอันขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และจะทำให้ไม่สามารถฟ้องคดีอาญา(ในคดีอันยอมความได้)ต่อศาลได้ เพราะจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา39(6)
ความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา
ม.72 เอาชื่อหรือยี่ห้อในทางการค้าของผู้อื่นมาใช้ ม.276 วรรคแรก ข่มขืนกระทำชำเราธรรมดา ม.278 กระทำอนาจาร(มิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล, ไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายไม่เป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลหรือผู้อยู่ในความปกครอง) ม.284 พาหญิงไปเพื่อการอนาจาร ม.209 วรรคแรก ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ ม.310 วรรคแรก หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ม.311 หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยประมาท ม.322 เปิดเผยความลับในจดหมาย โทรเลข ม.323 เปิดเผยความลับของผู้อื่นที่รู้มาโดยหน้าที่ ม.324 เปิดเผยความลับในทางอุตสาหกรรมหรือวิทยาศาสตร์ ม.326 หมิ่นประมาทคนเป็น ม.327 หมิ่นประมาทคนตาย ม.328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ม.341 ฉ้อโกงธรรมดา |
ม.342 ฉ้อโกงประกอบด้วยเหตุพิเศษ ม.344 หลอกลวงคนให้ไปทำงาน ม.345 สั่งซื้ออาหารหรือเข้าอยู่ในโรงแรมโดยไม่มีเงิน ม.346 ชักจูงให้เด็กเบาปัญญาขายของโดยเสียเปรียบ ม.347 ฉ้อโกงในเรื่องประกันวินาศภัย ม.349 ฉ้อโกงเจ้าหนี้จำนำ ม.350 ฉ้อโกงเจ้าหนี้ธรรมดา ม.352 ยักยอกทรัพย์ธรรมดา ม.353 ยักยอกทรัพย์ในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์แทนเขา ม.354 ยักยอกทรัพย์ในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์ตามคำสั่งศาล ม.355 ยักยอกทรัพย์เก็บตก ม.358 ทำให้เสียทรัพย์ตามธรรมดา ม.359 ทำให้เสียทรัพย์ชนิดพิเศษ ม.362 บุกรุกตามธรรมดา ม.363 บุกรุกโดยย้ายเครื่องหมายอสังหาริมทรัพย์ ม.363 เข้าไปซ่อนตัวในอาคารคนอื่น พรบ.เช็ค |
ความผิดอาญาที่นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ที่กฎหมายให้เป็นความผิดที่ยอมความกันได้เมื่อผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นญาติกันตาม ม.71
ม.334 ลักทรัพย์ธรรมดา
ม.335 ลักทรัพย์ประกอบเหตุพิเศษ(เหตุฉกรรจ์)
ม.336 วรรคแรก วิ่งราวทรัพย์ตามธรรมดา
ม.357 รับของโจร
ม.360 ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหายข้อสังเกต
ข้อกฎหมายความผิดอันยอมความได้จะบัญญัติไว้ท้ายหมวดนั้นๆ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 96 ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
(6) เมื่อคดีขาดอายุความ
(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2552
อายุความคดีฉ้อโกงเริ่มนับตั้งแต่เมื่อผู้เสียหายรู้หรือควรจะได้รู้ว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงตนเองตั้งแต่เมื่อใด มิใช่จะอ้างว่าได้พยายามติดตามทวงถามแล้วจนตอนหลังถึงแน่ใจว่าจำเลยมีเจตนาที่จะฉ้อโกงตนเองแล้วจริงๆจึงมาแจ้งร้องทุกข์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2546
ป.วิ.อ. มาตรา 39
ป.อ. มาตรา 96
ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คคือวันที่ 8 มีนาคม 2543 เมื่อเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งมีกำหนดให้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 และ 96 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 5 กันยายน 2543 โดยมิได้ร้องทุกข์ไว้ จึงขาดอายุความ ประมวลกฎหมายอาญาภาค 1 ลักษณะ 1 หมวด 9 บัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะแล้ว มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงหรือเลิกนับอายุความร้องทุกข์อันจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตภายในกำหนดอายุความ แต่คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงดุสิตและศาลแขวงดุสิตได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ไปแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลแขวงพระนครใต้อีกเมื่อพ้นกำหนดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6)
ทนายบี